SpaceX - Palantir - Anduril จ่อคว้าตำแหน่งผู้ดูแล 'โดมทอง' ระบบป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

SpaceX - Palantir - Anduril จ่อคว้าตำแหน่งผู้ดูแล 'โดมทอง' ระบบป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ

Date Time: 18 เม.ย. 2568 16:49 น.

Video

GoPro หายไปไหน? แบรนด์กล้องสุดล้ำ จากสูงสุดสู่สามัญในพริบตาเดียว | Digital Frontiers EP.35

Summary

  • SpaceX มีแนวโน้มที่จะได้เป็นผู้นำในแผนสร้าง “โดมทอง” ร่วมกับสตาร์ทอัพ Anduril และ Palantir โดยเสนอต่อกระทรวงกลาโหมว่าจะใช้ระบบสมัครสมาชิก รวมถึงสร้างกลุ่มดาวเทียมจำนวน 400 ถึงมากกว่า 1,000 ดวงเพื่อป้องกันขีปนาวุธที่จะคุกคามสหรัฐ ฯ ในขณะที่บางส่วนมองว่าโครงการนี้ใช้งบที่บานปลายมากเกินไป

Latest


“Golden Dome” หรือ “โดมทอง” คือระบบป้องกันขีปนาวุธที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนอขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก “Iron Dome” ของอิสราเอล เป้าหมายของสหรัฐฯ คือการพัฒนาโล่ป้องกันในระดับที่ใหญ่กว่า ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเซ็นเซอร์และระบบสกัดกั้น เพื่อสร้าง “โล่ในอวกาศ” ที่สามารถตรวจจับ ติดตาม และสกัดขีปนาวุธได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการบิน ซึ่งทรัมป์มองว่าเป็น “ภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญ”

แนวคิดนี้ดึงดูดความสนใจจากกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่กำลังหันมาโฟกัสกับอุตสาหกรรมกลาโหม โดยเฉพาะ SpaceX ที่อาจก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบ “โดมทอง” นี้

SpaceX มีลุ้นเป็นผู้ดูแลโครงการ Golden Dome 

หลังจากทรัมป์ประกาศเมื่อ 27 มกราคมว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องมีระบบโล่ป้องกันขีปนาวุธ ล่าสุด Reuters เปิดเผยว่า SpaceX ของ อีลอน มัสก์ พร้อมด้วยพันธมิตรอย่าง Palantir และ Anduril มีแนวโน้มสูงที่จะได้รับเลือกให้พัฒนาส่วนสำคัญของระบบ Golden Dome

ทั้งสามบริษัทนี้ก่อตั้งโดยบุคคลที่เป็นผู้สนับสนุนการเมืองรายใหญ่ของทรัมป์ เช่น อีลอน มัสก์ ที่เคยบริจาคเงินกว่า 250 ล้านดอลลาร์ให้กับการเลือกตั้งของทรัมป์ และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาพิเศษของประธานาธิบดี” อีกด้วย ส่งผลให้เขาได้เปรียบในการแข่งขันแย่งชิงบทบาทผู้นำโครงการนี้

รายงานระบุว่า ทั้งสามบริษัทได้เข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลทรัมป์และกระทรวงกลาโหมในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเสนอแผนสร้างดาวเทียมกว่า 400 ถึง 1,000 ดวง ทำหน้าที่ตรวจจับและติดตามขีปนาวุธ และอาจมีดาวเทียมอีกราว 200 ดวงที่ติดตั้งอาวุธ เช่น ขีปนาวุธหรือเลเซอร์ เพื่อยิงสกัดเป้าหมายในอวกาศ

อย่างไรก็ตาม SpaceX ยืนยันว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งอาวุธบนดาวเทียมดังกล่าว

แหล่งข่าววงในเผยว่า “นี่เป็นการเบี่ยงเบนจากกระบวนการจัดซื้อแบบดั้งเดิม ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับอีลอน มัสก์เป็นพิเศษ เพราะบทบาทของเขาในฝ่ายบริหาร” ขณะที่ SpaceX และมัสก์ปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทในการเจรจาสัญญากับรัฐบาล โดยบอกเพียงว่า “ไม่เป็นความจริง”

แม้สัญญาณจากกระทรวงกลาโหมจะเป็นบวกต่อ SpaceX แต่โครงการยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากมีบริษัทกว่า 180 แห่ง ยื่นข้อเสนอร่วมพัฒนา Golden Dome ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพสายกลาโหมอย่าง Epirus, Ursa Major และ Armada ไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แม้หลายบริษัทให้ความสนใจ แต่ก็มีข้อกังขาว่า โครงการนี้อาจมีต้นทุนสูงถึง “หลายแสนล้านดอลลาร์” โดยผู้เชี่ยวชาญอย่าง Laura Grego จาก Union of Concerned Scientists ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ โดยมองว่าระบบนี้ “ทั้งแพงและเปราะบาง” เพราะหากศัตรูปล่อยขีปนาวุธมาพร้อมกันหลายลูก ระบบจะต้องใช้ดาวเทียมนับหมื่นดวงเพื่อรับมือ

SpaceX เสนอระบบบริการสมาชิก 

ในขณะเดียวกัน SpaceX ได้เสนอแนวคิดการจัดตั้งระบบโดมทองในรูปแบบ “บริการสมาชิก” โดยให้รัฐบาลจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีแทนที่จะเป็นเจ้าของระบบโดยตรง แม้ว่าแนวทางนี้อาจช่วยให้เลี่ยงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบเดิม และช่วยให้ระบบเริ่มใช้งานได้เร็วขึ้นโดยไม่ผิดกฎใดๆ แต่รัฐบาลอาจสูญเสียการควบคุมด้านการพัฒนาและการตั้งราคาระยะยาว

เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมบางคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวทางข้อเสนอของ SpaceX ที่นับว่าแปลกใหม่และไม่ธรรมดาสำหรับโครงการที่มีขนาดและความสำคัญเช่นนี้ 

นอกจากนี้ SpaceX ยังพยายามที่จะผลักดันบทบาทในส่วนของโครงการโดมทองที่เรียกว่า “custody layer” ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเทียมที่จะตรวจจับขีปนาวุธ ติดตามวิถีการเคลื่อนที่ และประเมินว่ามุ่งหน้าไปยังสหรัฐฯ หรือไม่

โดย SpaceX ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายในการออกแบบและวิศวกรรมเบื้องต้นของชั้น custody layer จะอยู่ระหว่าง 6 พันล้านถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ แหล่งข่าวสองรายกล่าว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา SpaceX ได้ปล่อยดาวเทียมสอดแนมหลายร้อยดวง และเมื่อไม่นานมานี้ได้ปล่อยดาวเทียมต้นแบบหลายดวงที่อาจดัดแปลงมาเพื่อปรับใช้ในโครงการนี้ได้

แม้จะมีข้อเสนอมากมายจากหลายบริษัท แต่กระทรวงกลาโหมยังไม่ได้มีการระบุเลือกตัวผู้นำที่จะมารับผิดชอบโครงการนี้แต่อย่างใด หากแต่กล่าวเพียงว่า “จะเสนอทางเลือกให้ประธานาธิบดีตัดสินใจตามคำสั่งผู้บริหาร และให้สอดคล้องกับแนวทางและกรอบเวลาของทำเนียบขาว” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้อีลอน มัสก์ จะถูกคาดการณ์ว่าจะได้เป็นผู้นำในการผลิต “โดมทอง” แต่ทั้งนี้การชี้ชะตาทั้งหมดคงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทรัมป์ว่าจะเลือกใครให้เป็นคนจัดการ


ที่มา: Reuters


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ