แน่นอนว่าแทบทุกคนล้วนเติบโตมาพร้อมกับเสียงเพลง ตั้งแต่ท่วงทำนองอ่อนหวานที่แม่ร้องกล่อมยามเยาว์วัย เสียงโฆษณาที่แว่วผ่านวิทยุ เพลงประจำบทเรียนที่คุ้นหู หรือแม้กระทั่งบทเพลงจากศิลปินอันเป็นที่รัก
ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า เสียงดนตรีคือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งเรื่องราว และเป็นบันทึกแห่งกาลเวลา ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย “เพลง” ก็ยังคงอยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับ “คอนเสิร์ต” และ “มิวสิคเฟสติวัล” ที่ไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหน คนดูก็ยอมจ่าย นั่นก็เพราะทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงแค่ “การแสดง” แต่คือประสบการณ์ที่ผู้ชมลงทุนด้วยหัวใจและความคาดหวังก็คงไม่ผิดเพี้ยน แต่ก็นั่นแหละ มักจะมีคำถามหนึ่งที่ดังขึ้นในใจคือ “ความสุขที่ได้รับ คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไปหรือไม่?”
ในครั้งนี้ Thairath Money จะพาไปพูดคุยกับ “ป๊อป ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์” Vice President-Promoter Showbiz - Ideafact บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ปรุงรสคอนเสิร์ตของ ‘GMM SHOW’ ให้ออกมาได้อย่างกลมกล่อม กว่า 100 คอนเสิร์ต ด้วยสูตรลับส่วนตัวนั่นคือ การเข้าใจศิลปิน คนดู และการทำงานเป็นทีมเวิร์ก ที่ไม่ว่าใครได้ชมเป็นต้องเอ่ยถึงแทบทุกราย
ศักดิ์สกุล เล่าว่า ในหนึ่งปีมีการวางแพลนคอนเสิร์ตไว้เยอะมากเกือบทุกเดือน ซึ่งของ GMM Show บางเดือน 3 งาน ส่วนมากเป็นสเกลใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น Nanglen Music Festival, Scream Fest, Water War, ตัน Fight ตัน, PALMY มิตร Universe Concert และที่กำลังจะจัดอย่าง “Palmy Concert ทำบุญหวังผล”, อำพล ON FIRE CONCERT, GRAMMY RS CONCERTS ครั้งสุดท้าย, เป๊ก ผลิตโชค และศิลปินเกาหลีอีก 3 ราย ยังไม่รวมงานอื่นๆ อย่างเช่น Cocktail Everlive, Potato ฯลฯ
ทั้งนี้ด้วยความที่ IDEAFACT ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้จัดที่เก่งกาจด้าน Lifestyle Music Festival และคอนเสิร์ต ทั้ง Theme Concert หรือจะเป็น Inter Concert (แฟนมีท) การคิดงาน การคิดคอนเซปต์ต่างๆ เหมือนหรือแตกต่าง ศักดิ์สกุล เล่าว่า IDEAFACT ดูทั้งหมดสองส่วน คือ Lifestyle Festival กับ Festive ต่างจากคนอื่นทั้ง GMM Show และในตลาด โดยเรารู้ว่าไลฟ์สไตล์คนคือชอบถ่ายรูป และนิยมเล่นโซเชียลมีเดีย ดังนั้นในงานส่วนมากก็จะมีจุดถ่ายรูป แต่งหน้าฟรี ทำผมฟรี ตู้สติ๊กเกอร์ ตลาดงานคราฟท์ กิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อให้คนที่มามีประสบการณ์มากกว่าการดูคอนเสิร์ตปกติ
ส่วนคอนเสิร์ตฮอลล์ จะแบ่งเป็น Solo เช่น ปาล์มมี่, พี่หนุ่ยอำพล ส่วน Theme เช่น ตัน Fight ตัน, 90's FOREVER CONCERT ที่มีศิลปินจำนวนมาก ซึ่งต้องคิด theme ครอบ อีกทั้ง Inter อย่างศิลปินเกาหลี ฉะนั้นวิธีการคิดเราต้องพยายามคิดถึงคนดู และศิลปินเป็นหลัก
“เวลาคิดธีมคอนเสิร์ตเราต้องคิดมาจากคอนเซ็ปต์ก่อน ว่างานในครั้งนี้จะพูดถึงเรื่องอะไร จากนั้นเราก็นำศิลปินเข้าไปใส่ ส่วนวิธีคิด Festival เราคิดถึงคนดูเป็นหลักเช่นกัน คิดถึงกิจกรรมเอ็นเตอร์เทรนด์คนดู เพื่อเป็นประสบการณ์พิเศษที่คนดูจะหาจากที่อื่นไม่ได้ ซึ่งมันต้องต่างจาก Festival อื่นๆ”
อย่าง ตัน Fight ตัน ได้มีการคุยกับศิลปิน ซึ่งศิลปินหลายๆ คนจะมีภาพในหัวมาให้อยู่แล้ว เขาก็จะเสนอว่าอยากได้อะไร จะมีในแง่ของธีม ภาพที่โปรโมทออกไป เพื่อให้ทุกอย่างมันล้อกัน ส่วนของปาล์มมี่ เขาบอกโจทย์มาเลยคือ ความคุ้มค่า ฟีลกู้ด และเซอร์ไพรส์ เราก็ทำการบ้าน อย่าง PALMY มิตร Universe Concert เพราะปาล์มมี่มองแฟนเพลงเป็น “มิตรรัก” ที่หมายถึง จักรวาลของมิตร จึงกลายมาเป็น มิตร Universe นั่นเอง ที่สื่อถึงการที่ “ศิลปินจะเข้าไปหาแฟนเพลง” โดยเป็นการนั่งจรวดไปในจักรวาล รวมถึง การทำป้ายงานวัด รถพุ่มพวง ที่เวลาเราคิดจะล้อไปกับศิลปินด้วย
1.ต้องเข้าใจศิลปิน ว่าเป็นสไตล์ไหน อยากทำอะไร
2.เข้าใจคนดู ตอบโจทย์ความคุ้มค่า ซึ่งจะเกิดการบอกต่อจนเกิดความประทับใจ และกลายเป็นว่าจะเป็นมีเดียให้เราต่อ
3.การทำงานเป็นทีมเวิร์ก เพราะการทำคอนเสิร์ต หรือ Festival ค่อนข้างเป็นทีมใหญ่ ดังนั้นต้องอาศัยทีมหลังบ้าน ทีมโปรโมท ทีมพีอาร์ ส่วนหน้างานจะมีทีมอีกเยอะมาก ถ้าทุกคนเข้าใจตรงกันว่าทำงานเพื่อคนดูทุกอย่างก็จะราบรื่น
ไม่รู้ว่าความสุขมันเริ่มจากตรงไหน รู้ตัวอีกทีก็ได้ยืนกระโดด โบกมือ ร้องตามเพลงที่ชอบ พร้อมกับหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอัดคลิปซะแล้ว…
และเมื่อโปรโมเตอร์ถูกถามว่า “งานไหน” ประสบความสำเร็จที่สุด เพราะอะไร? ศักดิ์สกุล กลับตอบว่า “ชอบทุกงานที่ทำ แต่ถ้าคิดว่าคอนเสิร์ตไหนประสบความสำเร็จที่สุด เห็นจะเป็น “PALMY มิตร Universe Concert” เพราะตัวของศิลปินเองก็ถือได้ว่ายูนีคมากๆ มีแรงมีพลังที่จะดึงแฟนเพลงมาได้ เต็มที่มาก มีหมอกายภาพรอทุกวันหลังจากแสดงเสร็จ และในแง่คนดูสิ่งที่ถือว่าสำเร็จ คือ “ไวรัล” ซึ่งเป็นการที่คนดูช่วยโปรโมทอีกทางหนึ่ง และมันก็คุ้มค่าจริงๆ เพราะเล่นคอนเสิร์ตถึง 4 รอบด้วยกัน”
และที่เพิ่งจบไปหมาดๆ อย่าง “NANGLAY BEACH PARTY AND MUSIC FESTIVAL 4” ศักดิ์สกุล มองว่า ความสำเร็จมันเริ่มมาตั้งแต่ประกาศขายบัตรที่ Sold out อย่างรวดเร็ว รวมทั้งบรรยากาศชายหาดสุดคึกคักตั้งแต่บ่ายโมง สาย BEACH LIFESTYLE ทยอยเดินทางมาที่งานตามธีม บิกินี่บีชแซ่บที่สุด
และทันทีที่เข้าไปภายในงาน ได้พบการเนรมิตพื้นที่ทั้งหาดด้วยสีเขียวและสีชมพู ชวนถ่ายรูปตลอดทุกมุม โดยเฉพาะจุดแลนด์มาร์คของงาน ที่ได้แรงบันดาลใจงานดีไซน์มาจาก Lifeguard และเสริมบรรยากาศงานด้วย FANCY KITE (แฟนซี ไคท์) ว่าวแฟนซีหลากหลายรูปทรงที่ถูกออกแบบแต่งแต้มท้องฟ้าให้ได้ครีเอทท่าถ่ายรูปไม่ซ้ำใคร
“ซึ่งการจัดมาอย่างต่อเนื่องทำให้เราเริ่มเห็นผู้คนที่มาว่าเป็นคนประเภทไหน ชอบอะไร และเมื่อเรามีข้อมูลตรงนี้มากๆ มันทำให้เราสามารถนำมาปรับใช้กับงานในครั้งต่อๆ ไปได้”
ศักดิ์สกุล เล่าว่า ในชีวิตจัดมาแล้วเกิน 100 งาน ซึ่งแน่นอนว่าอยู่ในวงการนี้มานาน เราอาจจะมีการเบิร์นเอาท์บ้าง แต่ “ช้อปปิ้ง” จะช่วยเยียวยาทุกสิ่งได้ และการทำงานทุกงานมันมีปัญหา เพียงแต่เราต้องรู้ว่าปัญหามันเกิดจากอะไรก็ไปแก้ตรงจุดนั้น แต่ถ้าเกิดกับงาน เราก็จะเข้าไปช่วยน้องๆ แก้ปัญหา แต่ถ้าเกิดกับตัวเราเราก็ต้องไปแก้ หยุดทุกอย่างแล้วอยู่บ้าน หรือไปเที่ยว เพื่อ Refresh มันก็จะได้ไอเดียใหม่ๆ เพราะตราบใดที่เราไม่พร้อม คนอื่นจะไม่พร้อม เพราะการมาทำงานอาจจะมี effect กับคนอื่น
ทั้งนี้ในส่วนราคาบัตรคอนเสิร์ตจะมีตั้งแต่แพงไปจนถึงถูกที่สุด แต่ประสบการณ์ที่ได้รับก็จะแตกต่างออกไป บางคนอยากเห็นอารมณ์ของศิลปิน รีแอค จึงยอมจ่ายแพงกว่า ซึ่งมันคือประสบการณ์ที่คอนเนคได้ง่ายขึ้น มันคือความคุ้มค่าในส่วนหนึ่ง
ส่วนการตั้งราคาบัตรก็จะดูจากต้นทุน เพราะทุกธุรกิจจะมีเรื่องของกำไร ขาดทุน แต่ต้นทุนเป็นสิ่งที่เกิดก่อน หากขายดีก็ได้กำไร หากขายไม่ดีก็ขาดทุน แต่วันที่เราขายบัตรไปแล้วเราไม่สามารถยกเลิกงานได้ ยกตัวอย่างเช่น คิดคอนเซ็ปต์มาเราจะตั้งต้นทุนก่อน บางเฟสติวัลประมาณ 20 ล้านบาท จากนั้นเราก็ดูกำลังจุคน หากจุได้เยอะเราก็จะสามารถทำราคาที่ถูกลงได้
แต่หากบางสถานที่จุคนได้น้อยราคาบัตรอาจจะสูง จังหวัดที่จะไปก็มีส่วน เพราะคนกรุงเทพฯ อาจจะจ่ายได้สูงกว่า อีกทั้งยังมีเรื่องของ ต้นทุนแฝง (Hidden Cost) ร่วมด้วย ฉะนั้นจึงอยู่ที่การ “ตั้งราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ได้ถูกจนขาดทุน และไม่ได้แพงจนคนดูรับไม่ได้ มันจะทำให้เกิดจุดคุ้มค่าตรงกลางได้เหมือนกัน
“การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง ราคาบัตรจึงแปรผันตาม Factor เหล่านั้น แต่สุดท้ายแล้วเวลาเราตั้งราคาบัตร เราพยายามมองจุดคุ้มค่าของคนดู และจุดคุ้มทุนของผู้จัด เราไม่ได้ทำราคาแบบจัดทีเดียวสร้างบ้านได้เลย เพราะเราอยากให้คนดูมาทุกปี และการที่เราหาลูกค้าเก่ามันง่ายกว่าหาลูกค้าใหม่”
ปัจจุบันความชอบของคนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ค่าครองชีพสูงขึ้น และยิ่งมีการแข่งขันระดับอินเตอร์ ศิลปินต่างชาติ ผู้จัดเยอะขึ้น อุตสาหกรรมดนตรี การดูคอนเสิร์ตมิวสิคเฟสติวัลยังไปต่อได้หรือไม่ ศักดิ์สกุล มองว่า ตราบใดที่อุตสาหกรรมดนตรียังคงมีอยู่ Show Biz ก็ยังไปต่อได้ เพราะดนตรีมันซึมเข้าไปอยู่ในชีวิตของคน ปกติเราไม่ไปไหนก็ฟังเพลง ฮัมดนตรีตามท่อนที่ชอบ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “คอนเสิร์ต” ก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการ สะท้อนภาพ Music Economy ในไทยก็รันไปเรื่อยๆ บางปีอาจจะเยอะ บางปีอาจจะน้อย เป็น “วัฏจักร” ปกติ
ทั้งนี้ Location ในไทยก็มีส่วนในการช่วยผลักดันเช่นกัน โดยปัจจุบันมีโลเคชั่นใหม่จำนวนมาก อย่างเช่น UOB Live หรือ One bangkok และ Bangkok Mall มิกซ์ยูสแห่งใหม่ใจกลางบางนาที่กำลังก่อสร้าง ทั้งหมดนี้สามารถรองรับสเกลของคนและศิลปินที่มีเยอะขึ้นได้
ส่วน Festival แน่นอนว่าในปัจจุบันก็มีเยอะขึ้น ตามหัวเมืองใหญ่ปีละ 2-4 งาน เช่น กาญจนบุรี ลพบุรี พัทลุง เริ่มจัดของตัวเองมากขึ้น ทำให้เกิด Economic System ในเรื่องของรายได้ หมุนเวียนในอุตสาหกรรมทั้งเรื่องของ อาหาร การท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน ฯลฯ
“ผู้จัดอย่างเราจึงต้องปรับตัวตลอดเวลา เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยน คนซื้อบัตรเปลี่ยน โซเชียลก็มีส่วน เพราะบางทีเรื่องเล็กๆ ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ เรามีหน่วยงานคอยเรคคอร์ด คำชม คำติ ในทุกครั้ง”
ยกตัวอย่างเช่น Water Wall Chiang mai 2025 ที่เป็นงาน Festival ยิ่งใหญ่ประจำปี อัดเต็มด้วยโปรดักชั่นสุดอลังการ พร้อมสาดความเปียกชุ่มฉ่ำด้วยวอเตอร์เอฟเฟ็กต์สุดยิ่งใหญ่ ในวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน 2568 ณ ลานม่วนใจ๋ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต และอัดแน่นด้วยศิลปินเบอร์ใหญ่ที่ดีที่สุด เยอะที่สุดในวันเดียว เพราะไลน์อัพศิลปินที่ประกาศออกมานั้นเดือดไม่ใช่เล่น! นำทีมโดย BODYSLAM (บอดี้สแลม) BIG ASS (บิ๊กแอส) POTATO (โปเตโต้)
รวมไปถึง Water Effect (วอเตอร์ เอฟเฟ็กต์) สุดยิ่งใหญ่ที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือกว่า 20 เมตร พร้อมหัวฉีดน้ำแบบพิเศษที่สามารถกระจายน้ำไปทั่วพื้นที่ของงาน บอกเลยว่าไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของงานก็เปียกชุ่มฉ่ำกันแบบจุใจตลอดวันยันเที่ยงคืน และในปีนี้วอเตอร์วอร์เชียงใหม่อยากชวนทุกคนมาสาดความมันแบบมีสไตล์ ในธีม White Songkran (ไวท์ สงกรานต์) สร้างปรากฏการณ์แฟชั่นสีขาวทั่วทั้งงานเต็มลานม่วนใจ๋ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ที่จะกระจายรายได้ไปทั่วทั้งจังหวัด
ที่ผ่านมาทำแต่คอนเสิร์ตให้ศิลปินคนอื่น หากวันหนึ่งมีโอกาส ทำคอนเสิร์ตของตัวเองจะออกมาเป็นรูปแบบไหน?
นี่คือคำถามที่ “ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์” มักจะถูกถามอยู่บ่อยครั้ง โดยเขามองว่า อยากจัดแบบเรียบๆ เพราะเราเห็นอะไรฟู่ฟ่ามาเยอะ สิ่งสำคัญคืออยากให้ “คน” พูดถึง “ศิลปิน” เป็นหลัก มากกว่าเรื่องของโปรดักท์ชั่น
“การไปคอนเสิร์ตไม่ใช่แค่การดูศิลปินที่คุณชื่นชอบ แต่มันคือประสบการณ์ที่เติมเต็มหัวใจ คุณจะได้พบเจอผู้คนที่หลงใหลในสิ่งเดียวกัน รู้สึกถึงพลังของความสุขที่เกิดขึ้นตรงหน้า และบางครั้ง คุณอาจค้นพบตัวเองในแบบที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน เพียงแค่คุณก้าวเท้าออกมาจากพื้นที่เดิม ๆ เปิดใจให้กับบรรยากาศใหม่ ๆ คุณอาจได้รับสิ่งที่มากกว่าความบันเทิง แต่มันอาจเป็นความทรงจำที่เปลี่ยนมุมมองของคุณไปเลยก็ได้” ศักดิ์สกุล กล่าวทิ้งท้าย
อ่านบทสัมภาษณ์ Executive Interviews กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดีได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/executive_interviews
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney