เมื่อเส้นตายวันที่ 5 เมษายน 2025 ใกล้เข้ามา ศึกชิง TikTok ในสหรัฐฯ กำลังร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุด Amazon และ Tim Stokely ผู้ก่อตั้ง OnlyFans ได้ยื่นข้อเสนอเข้าซื้อกิจการ ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดจากยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและกลุ่มนักลงทุนระดับโลก
ภายใต้กฎหมายที่ผ่านในปี 2024 รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดให้บริษัทแม่ของ TikTok อย่าง ByteDance ซึ่งมีฐานอยู่ในจีน ต้องขายกิจการภายในวันที่ 19 มกราคม 2025 มิฉะนั้น TikTok อาจถูกแบนจากตลาดสหรัฐฯ สาเหตุหลักมาจากข้อกังวลด้านความมั่นคงของรัฐบาลอเมริกันเกี่ยวกับการควบคุมข้อมูลและอิทธิพลของจีน
ขณะที่เวลานับถอยหลัง เหล่าบริษัทและนักลงทุนระดับโลกเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแข่งขันเพื่อเข้าซื้อ TikTok โดยมีทั้งยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี, บริษัทไพรเวทอิควิตี้, และนักลงทุนจากภาคเอกชน
Amazon
Amazon ยื่นข้อเสนอเข้าซื้อ TikTok ทั้งหมด ท่ามกลางความพยายามขยายอิทธิพลสู่ตลาดโซเชียลมีเดีย ก่อนหน้านี้ Amazon เคยซื้อแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่ง Twitch ในปี 2014 และเว็บไซต์รีวิวหนังสือ Goodreads ในปี 2013 ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของธุรกิจอีคอมเมิร์ซของตนเอง
เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ รายหนึ่งยืนยันว่า Amazon ได้ส่งจดหมายถึงรองประธานาธิบดี JD Vance และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ Howard Lutnick อย่างไรก็ตาม Amazon ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ขณะที่ TikTok และ ByteDance ยังไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความคิดเห็น หุ้นของ Amazon เพิ่มขึ้นประมาณ 2% หลังจากมีข่าวการประมูล TikTok ในช่วงโค้งสุดท้าย
แม้ว่า Amazon จะไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนพัฒนา TikTok หลังเข้าซื้อ แต่มีรายงานว่าแพลตฟอร์มนี้อาจถูกนำมาใช้เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ใช้งานวัยรุ่น และเสริมศักยภาพด้านคอนเทนต์วิดีโอสั้นให้กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของบริษัท
กลุ่มที่นำโดย Tim Stokely (ผู้ก่อตั้ง OnlyFans)
Tim Stokely ร่วมมือกับ Zoop บริษัทสตาร์ทอัพของเขา พร้อมกับกลุ่มนักลงทุนด้านคริปโตเคอร์เรนซี ยื่นข้อเสนอเข้าซื้อ TikTok กลุ่มนี้หวังนำโมเดลธุรกิจของ OnlyFans ซึ่งประสบความสำเร็จจากคอนเทนต์แบบสมัครสมาชิกมาพัฒนา TikTok ในทิศทางใหม่
Blackstone และกลุ่มนักลงทุนอเมริกัน
บริษัทไพรเวทอิควิตี้ยักษ์ใหญ่อย่าง Blackstone อยู่ระหว่างการหารือเพื่อเข้าร่วมกับนักลงทุนที่ถือหุ้นใน ByteDance แล้ว นำโดย Susquehanna International Group และ General Atlantic ข้อเสนอของกลุ่มนี้มุ่งเน้นที่การเพิ่มเงินทุนใหม่เพื่อซื้อกิจการ TikTok และลดบทบาทของจีนในโครงสร้างผู้ถือหุ้น
Oracle และ Andreessen Horowitz
Oracle เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่แสดงความสนใจซื้อ TikTok โดยร่วมมือกับ Andreessen Horowitz บริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อหาทางตัดนักลงทุนจีนออกจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ TikTok
Oracle เคยเสนอแผน Project Texas ซึ่งเป็นแผนที่เน้นความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ชาวอเมริกันโดยให้ข้อมูลถูกเก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐฯ และอาจนำแผนนี้มาใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการเสนอซื้อ TikTok
ขณะเดียวกัน บริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยี Andreessen Horowitz ก็กำลังเจรจาเพื่อระดมทุนจากภายนอกเพื่อนำไปซื้อหุ้นของนักลงทุนจีนใน TikTok โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอที่นำโดย Oracle และนักลงทุนชาวอเมริกันรายอื่น เพื่อตัด TikTok ออกจาก ByteDance ตามรายงานของ Financial Times เมื่อวันอังคาร
นักลงทุนอื่น ๆ ที่เปิดเผยตัวและยังไม่เปิดเผยตัว
นอกจากผู้เล่นรายใหญ่ที่กล่าวถึง ยังมีกลุ่มนักลงทุนรายย่อยและกองทุนไพรเวทอิควิตี้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณายื่นข้อเสนอ แม้ว่าจะยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัด แต่การแข่งขันเพื่อครอบครอง TikTok กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ รายชื่อผู้นักลงทุนที่สนใจซื้อ TikTok และสามารถเปิดเผยรายชื่อได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ได้มีนักลงทุนหลายรายแสดงความสนใจเข้าซื้อกิจการ TikTok ซึ่งรวมถึงบุคคลสำคัญในวงการเทคโนโลยีและการลงทุน โดยมีชื่อที่โดดเด่นดังนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ใครจะเป็นเจ้าของ TikTok คนใหม่ ? จาก 'อีลอน มัสก์' ถึง 'MrBeast' รวมพลมหาเศรษฐีและเจ้าพ่อเทค
แม้ว่าหลายกลุ่มจะสนใจซื้อ TikTok แต่ ByteDance ยังคงไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะยอมขายกิจการหรือไม่ รายงานระบุว่าหาก ByteDance ตัดสินใจขาย ราคาประเมินอาจสูงถึง 40,000 - 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากศักยภาพของแพลตฟอร์มและฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่
หากการขายไม่เกิดขึ้น TikTok อาจเผชิญกับมาตรการแบนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวงการโซเชียลมีเดียทั่วโลก
การแข่งขันเพื่อเป็นเจ้าของ TikTok กำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายในวันที่ 5 เมษายนนี้ ใครจะได้ครอบครองแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก? เราคงต้องจับตาดูกันต่อไป
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney