TikTok ตัวประกัน จีน-สหรัฐ ทรัมป์อาจพิจารณาผ่อนปรนภาษี หากยอมขาย นักลงทุนต่อคิวเร่งปิดดีล

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

TikTok ตัวประกัน จีน-สหรัฐ ทรัมป์อาจพิจารณาผ่อนปรนภาษี หากยอมขาย นักลงทุนต่อคิวเร่งปิดดีล

Date Time: 4 เม.ย. 2568 12:20 น.

Video

Nokia ทำยังไง? ทุกวันนี้ถึงทำธุรกิจสบายกว่าตอนขายมือถือ | Digital Frontiers

Summary

  • โดนัลด์ ทรัมป์ พิจารณาลดภาษีนำเข้าจากจีน หลังจากประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตราสูงครั้งใหม่ที่ 34% ต่อเนื่องจากการเรียกเก็บ 20% ช่วงต้นปีก่อนหน้านี้ หากรัฐบาลอนุญาตให้ ByteDance บริษัทแม่ TikTok ยอมขายให้กับนักลงทุนอเมริกัน

Latest


ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณพร้อมเจรจาว่าเขาอาจพิจารณาลดภาษีนำเข้าจากจีน หากรัฐบาลปักกิ่งอนุญาตให้ ByteDance ซึ่งเป็นเจ้าของ TikTok ที่มีฐานอยู่ในจีนยอมขายแอปพลิเคชันวิดีโอให้กับนักลงทุนอเมริกันเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแบนในสหรัฐฯ

หลังจากประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตราสูงครั้งใหม่ที่ 34% ต่อเนื่องจากการเรียกเก็บ 20% ช่วงต้นปีก่อนหน้านี้ ทำให้ปัจจุบันจีนต้องเผชิญภาษีนำเข้าสินค้ารวมแล้วในอัตราทั้งหมด 54% จากสหรัฐฯ

ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวบนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันว่ารัฐบาลของเขากำลังบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มนักลงทุนหลายรายที่จะทำให้ TikTok สามารถดำเนินงานในสหรัฐฯ ได้ต่อไป โดยก่อนหน้านี้รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายบังคับให้ ByteDance ต้องขายกิจการ TikTok มิฉะนั้นจะถูกแบนทั่วประเทศ โดยทรัมป์ได้ขยายเส้นตายสำหรับการขายกิจการจนถึงวันเสาร์ (5 เม.ย.) นี้

กฎหมายดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อจัดการกับความกังวลด้านความมั่นคงเกี่ยวกับอิทธิพลที่อาจเกิดจากรัฐบาลจีนต่ออัลกอริธึมของ TikTok ที่อาจทำให้รัฐบาลปักกิ่งเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกันหลายล้านคน

อ่านเพิ่มเติม

ข้อเสนอหนึ่งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคือการแยก TikTok ออกจากบริษัทแม่ในจีน โดยจะจัดตั้งหน่วยงานใหม่ในสหรัฐฯ พร้อมกับการลงทุนจากอเมริกาที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนจีน ซึ่งระหว่างนี้ เหล่าบริษัทและนักลงทุนระดับโลกเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแข่งขันเพื่อเข้าซื้อ TikTok โดยมีทั้งยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี, บริษัทไพรเวทอิควิตี้, และนักลงทุนจากภาคเอกชน

ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุด ระบุว่า ตามข้อเสนอดังกล่าว นักลงทุนรายใหม่ เช่น Andreessen Horowitz, Blackstone, Silver Lake และบริษัทเงินทุนขนาดใหญ่อื่น ๆ จะเข้ามาถือหุ้นประมาณครึ่งหนึ่งของธุรกิจ TikTok ในสหรัฐ โดยมีนักลงทุนในปัจจุบัน เช่น General Atlantic, Susquehanna, KKR และ Coatue จะถือหุ้นรวมกันราว 30%

ขณะที่ ByteDance จะถือหุ้นต่ำกว่า 20% ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายสหรัฐฯ ที่ไม่อนุญาตให้ “คู่ปรับต่างชาติ” ถือหุ้นเกินหนึ่งในห้า ส่วนในด้านความมั่นคงของข้อมูล Oracle จะเข้ามามีบทบาทในการดูแลด้านนี้

อย่างไรก็ตามจุดที่ยังเป็นประเด็นถกเถียง คือ ใครจะเป็นผู้ควบคุมอัลกอริธึมของ TikTok ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง โดยหนึ่งในแนวทางที่หารือกันคือ ByteDance จะยังคงพัฒนาและควบคุมอัลกอริธึมไว้ และให้กลุ่มใหม่ในสหรัฐฯ ใช้งานผ่านข้อตกลงการให้สิทธิ์ใช้งาน (Licensing)

ขณะที่กลุ่มผู้แทนสายเหยี่ยวและนักกฎหมายด้านความมั่นคง โต้แย้งว่า อัลกอริธึมจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายอเมริกันโดยสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย นำโดยอดีตสมาชิกสภาคองเกรสบางคนที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารของทรัมป์ เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์โก รูบิโอ และที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ไมค์ วอลต์ซ ก็เป็นหนึ่งในผู้คัดค้านอย่างรุนแรงต่อแนวคิดที่ให้จีนยังคงมีอำนาจควบคุมแอปดังกล่าว

อ้างอิงข้อมูลจาก Reuters Financial Times 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ