เมื่อวันที่ 16 เมษายน Mark Zuckerberg ซีอีโอของ Meta ขึ้นให้การต่อศาลในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในคดีสำคัญที่อาจเขย่าวงการเทคโนโลยีทั่วโลก หลังคณะกรรมการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FTC) ยื่นฟ้องร้องเพื่อ "รื้อดีล" เข้าซื้อกิจการ Instagram และ WhatsApp โดยกล่าวหาว่า Meta ใช้การเข้าซื้อกิจการเพื่อกวาดล้างคู่แข่งและผูกขาดตลาดโซเชียลมีเดีย
ในปี 2012 Facebook (ชื่อเดิมของ Meta) เข้าซื้อ Instagram แอปฯ โพสต์ภาพและวิดีโอมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นบริษัทแรกที่ Facebook เข้าซื้อและดำเนินการต่อไปในฐานะแอปฯ แยกต่างหาก และต่อมาในปี 2014 ก็ได้ซื้อกิจการแอปฯ ส่งข้อความชื่อ WhatsApp ในมูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
WhatsApp และ Instagram ช่วยให้ Facebook ย้ายธุรกิจจากคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปไปยังอุปกรณ์พกพา และยังคงเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ เนื่องจากมีคู่แข่งอย่าง Snapchat (ซึ่ง Facebook พยายามซื้อแต่ล้มเหลว) และ TikTok เกิดขึ้น
ในปี 2020 FTC และอัยการรัฐฯ เริ่มดำเนินการยื่นฟ้อง Meta ว่าผูกขาดอย่างผิดกฎหมายโดยใช้วิธีซื้อกิจการ การพิจารณาคดีครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบครั้งใหญ่ครั้งแรกๆ ของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ภายใต้วาระแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการท้าทายบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ต่อเนื่องในปี 2023 ศาลปฏิเสธคำร้องขอของ Meta และตัดสินว่าคดีนี้ต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีต่อไป กระทั่งเดือนเมษายนปี 2025 ที่ Mark Zuckerberg ซีอีโอขึ้นให้การต่อศาลกลางในกรุงวอชิงตัน
ฝ่าย FTC ใช้อีเมลและข้อความส่วนตัวที่รวบรวมไว้ช่วงก่อนการไต่สวนมาเปิดเผยในศาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า Zuckerberg และผู้บริหารคนอื่นๆ มีแนวโน้มจะซื้อกิจการเพื่อ “กำจัดคู่แข่ง” มากกว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน
โดยระบุว่า การเข้าซื้อดังกล่าวทำให้ Meta สามารถควบคุมตลาดแพลตฟอร์มโซเชียลที่ผู้คนใช้สื่อสารได้อย่างเบ็ดเสร็จ ลดการแข่งขัน ซึ่งนำไปสู่คุณภาพบริการที่แย่ลง และทางเลือกของผู้ใช้ที่ลดลง ทั้งนี้หากศาลตัดสินให้ FTC ชนะคดี Meta อาจต้องแยก Instagram และ WhatsApp ออกเป็นบริษัทอิสระ ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์โลกเทคโนโลยี
ทั้งนี้ด้าน Zuckerberg เองเน้นย้ำต่อศาลรัฐบาลกลางว่าเขาซื้อ Instagram และ WhatsApp เพราะเขาเห็นคุณค่าในบริษัทไม่ใช่เพื่อกำจัดคู่แข่ง และยังคงมุ่งเน้นอย่างมากในการคิดค้นสิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองแพลตฟอร์มยังคงดำเนินการในฐานะแบรนด์อิสระ (Independent brand)
หลายฝ่ายจับตาการให้การต่อศาลครั้งนี้ของ Zuckerberg ที่กินเวลายาวนานถึง 3 วันเต็ม ซึ่งเผยให้เห็นมุมมองธุรกิจ การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และความกังวลลึกๆ ของเจ้าของอาณาจักรโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก ในยุคที่ Meta ต้องเผชิญกับการแข่งขันและแรงกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่างหนักหน่วง
เมื่อถูกถามถึงข้อความที่เขาเคยแสดงความกังวลว่า Instagram เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เขาอธิบายว่าเหตุผลที่เลือกซื้อ Instagram เพราะแพลตฟอร์มนี้ทำฟีเจอร์กล้องได้ดีกว่า โดยระบุว่า"ผมคิดว่า Instagram ทำกล้องได้ดีกว่า เราเลยคิดว่าซื้อน่าจะดีกว่า"
แม้คำพูดนี้อาจหนุนข้อกล่าวหาของ FTC ที่ว่า Meta เลือกซื้อคู่แข่งแทนที่จะแข่งขันอย่างยุติธรรม แต่ Meta โต้แย้งว่าความตั้งใจของบริษัทไม่ได้มีอำนาจผูกขาดในช่วงเวลานั้น เนื่องจากต้องแข่งขันกับแพลตฟอร์มมากมาย โดย Zuckerberg เปิดเผยถึงแนวคิดเบื้องหลังการตัดสินใจซื้อกิจการว่าเกิดจาก "ความกังวลอย่างยิ่ง" ต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและคู่แข่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยย้ำอีกว่า Instagram จะไม่สามารถเติบโตได้ขนาดนี้หากยังเป็นบริษัทอิสระ
นอกจากนี้ Zuckerberg ยังกล่าวอีกว่าเขาเคยเสนอไอเดียแยก Instagram ออกจาก Meta ในปี 2018 ท่ามกลางแรงกดดันจากหน่วยงานต่อต้านการผูกขาด สะท้อนว่าตัวเองให้ความสำคัญกับข้อกล่าวหาดังกล่าว "ผมสงสัยว่าเราควรพิจารณาทางเลือกขั้นสุดอย่างการแยก Instagram ออกเป็นบริษัทใหม่หรือไม่" เขาระบุไว้ในเอกสารที่ถูกเปิดเผยในศาล "แม้บริษัทส่วนใหญ่จะต่อต้านการแยกออก แต่จากประวัติศาสตร์แล้ว หลายบริษัทกลับทำผลงานได้ดีขึ้นหลังจากแยกตัว"
มากไปกว่านั้น Meta โต้แย้งว่าวงการโซเชียลเปลี่ยนไปมากนับตั้งแต่เข้าซื้อ Instagram (2012) และ WhatsApp (2014) Zuckerberg ให้การว่า ปัจจุบันเนื้อหาบน Facebook ประมาณ 20% และ Instagram ประมาณ 10% มาจากเพื่อนของผู้ใช้ ส่วนที่เหลือมาจากบัญชีอื่นๆ ที่ผู้ใช้ติดตามตามความสนใจ "ผู้คนหันไปมีปฏิสัมพันธ์กับคอนเทนต์ที่ไม่ใช่จากเพื่อนมากขึ้นเรื่อยๆ" ดังนั้นเขาไม่ได้ควบคุมการสื่อสารของผู้ใช้อย่างที่กล่าวว่า เขาตอบว่า "ไม่สำคัญเท่าเดิม" เพราะตอนนี้แพลตฟอร์มเหล่านี้ทำหน้าที่เป็น “เครื่องค้นพบคอนเทนต์” มากกว่าเครือข่ายเพื่อน
FTC โต้แย้งว่าการซื้อ Instagram ทำให้ Meta ลดการแข่งขันลงและสามารถควบคุมบริการได้ในแบบที่เอื้อผลประโยชน์ให้บริษัท เช่น การเพิ่มจำนวนโฆษณา ซึ่งหากมีการแข่งขันมากขึ้น ผู้ใช้อาจได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่า เช่น โฆษณาน้อยลง
อย่างไรก็ตาม Zuckerberg ให้การว่าเขาต้องปกป้องระบบโฆษณาของตนเอง โดยระบุว่า ระบบของ Meta ออกแบบมาเพื่อ "แสดงโฆษณามากขึ้นให้กับผู้ใช้ที่ชอบดูโฆษณา" เขายังเปิดเผยว่า Meta เคยหารือถึงแนวคิด "ฟีดที่เต็มไปด้วยโฆษณา” แต่ยังไม่เคยทำจริง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ Zuckerberg ยอมรับว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา TikTok เป็น "ภัยคุกคามด้านการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดของ Instagram และ Facebook" และยอมรับอีกว่า Meta ตอบสนองต่อภัยคุกคามจาก TikTok ช้าเกินไปในช่วงแรก แต่เมื่อ TikTok เริ่มได้รับความนิยม บริษัทรีบพัฒนา Reels มาแข่งขันทันที พร้อมระบุว่า TikTok ทำให้การเติบโตของ Meta "ชะลอลงอย่างมาก"
อย่างไรก็ตาม FTC ไม่ได้รวมการแข่งขันพัฒนา Reels กับ TikTok หรือ YouTube ในข้อกล่าวหานี้ โดยให้เหตุผลว่าทั้งสองไม่ใช่เครือข่ายที่เน้นเชื่อมต่อกับเพื่อนและครอบครัวแบบโซเชียลมีเดีย
ทั้งนี้หากศาลตัดสินให้ Meta ผิดจริง เราอาจเห็น Meta ทำการแยก Instagram กับ WhatsApp ออกจาก Meta รวมไปถึงระบบระหว่างแอปจะต้องแยกออกใหม่ทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้ Meta สูญเสียมูลค่าตลาดหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐและส่งผลกระทบต่อธุรกิจโฆษณาซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้สำคัญของบริษัท
นอกจากนี้ คดีนี้ไม่ใช่แค่เรื่อง Meta แต่เป็นเดิมพันของทั้งอุตสาหกรรม เพราะกระบวนการอนุมัติการซื้อกิจการในอดีตของรัฐบาลจะถูกตั้งคำถามอย่างหนัก เนื่องจากครั้งนี้นับเป็นการ “รื้อดีลย้อนหลัง” ที่อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในกฎหมายแข่งขันเสรีของสหรัฐฯ คำตัดสินในคดีนี้จะส่งผลถึงอนาคตของธุรกิจเทคโนโลยีทั่วโลก ไม่เพียงแต่ Meta หากแต่รวมถึง Apple, Google, Microsoft และบริษัทสตาร์ตอัปที่อาจกลายเป็นเป้าซื้อในอนาคต
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -